วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ผีตาโขน

ประวัติและความเป็นมา
ปราชญ์ท้องถิ่น ครูภูมิปัญญาและนักการศึกษาหลายท่านที่ศึกษาวิจัยเรื่องราวของผีตาโขนในแง่ มุมต่างๆ ล้วนมีข้อสรุปตรงกันว่าประเพณีผีตาโขน เป็นการละเล่นที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรม เพื่อบวงสรวงบูชาติดต่อกับผู้ชมดูการละเล่น คือ วิญญาณผีบรรพชน ที่กลุ่มชนชาติพันธุ์ไท-ลาว เชื่อถือร่วมกันว่าบรรพชน คือ ต้นตระกูลเผ่าพันธุ์ผู้ที่สร้างบ้านแปงเมือง บรรพชนเมื่อตายเป็นผี จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่น่าเกรงขาม มีอำนาจที่จะดลบันดาลให้ความอุดมสมบูรณ์ หรือความหายนะแก่บ้านเมืองได้ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ เพื่อความอุดมสมบูรณ์พูนสุขของบ้านเมือง เมื่อถึงงานบุญประเพณีสำคัญ ๆ ตามฮีตประเพณี จึงจะต้องทำการละเล่นเต้นฟ้อนผีตาโขนเพื่อเซ่นสรวงบูชาให้เป็นที่ ถูกอกถูกใจแก่ผีบรรพชน การละเล่นผีตาโขนจึงเป็นการละเล่นที่มีมาแต่โบราณ และผ่านการ สืบทอดทางพิธีกรรมเป็นสายยาวจากรุ่นต่อรุ่นมาจนถึงปัจจุบัน ผีตาโขนจึงเป็นการละเล่นส่วนหนึ่งในงานบุญหลวงของอำเภอด่านซ้าย หรือเมืองด่านซ้ายในอดีต นับเป็นการละเล่นที่นำพาให้เกิดความสนุกสนานและความบันเทิงเป็นหลัก เช่นกันกับการเล่นทอดแห ขายยา และทั่งบั้ง อันเป็นสีสันแห่งการเฉลิมฉลองในงานบุญหลวงและโดยเฉพาะในพิธีอันเชิญพระ เวสสันดร และนางมัทรีเข้าเมือง ตามฮีตเดือนสี่ (บุญเผวส) ของชาวอีสาน ซึ่งชาวด่านซ้าย

ได้รวมเอางานบุญฮีตเดือนสี่(บุญเผวส) ฮีตเดือนห้า (บุญสงกรานต์) ฮีตเดือนหก (บุญบั้งไฟ) และฮีตเดือนเจ็ด (บุญซำฮะ) มาจัดขึ้นพร้อมกันในช่วงเดือนเจ็ดของทุกปี ซึ่งมักจะอยู่ระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงช่วงต้นเดือนกรกฏาคม ทั้งนี้เจ้าพ่อกวน (ผู้นำทางจิตวิญญาณของท้องถิ่น)จะเป็นผู้กำหนดวันโดยผ่านพิธีการเข้าทรงล่วง หน้า คำว่า ผีตาโขน ตามความเห็นของเจ้ากวน (ถาวร เชื้อบุญมี) น่าจะมาจากการที่บรรดาผีเหล่านั้น สวมหน้ากากคล้ายลักษณะของโขนละคร แต่เดิมบางคนเรียกว่าผีตาขน แต่ก็หาความหมายไม่ได้ชัดแจ้ง และจากคำบอกเล่าของเจ้าพ่อกวนในขณะเข้าทรงว่า ผีตามคนมาในงานบุญพระเวส จึงเรียกผีตามคนต่อมาจึงเพี้ยนเป็นผีตาโขน จากการศึกษาวิจัยเรื่องพัฒนาการประเพณีผีตาโขน ของ สนอง อุปลาพบว่าประเพณีผีตาโขนเป็นการละเล่นที่เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณ ของผีบรรพชน สืบสานมาจากการละเล่นปู่เยอ ย่าเยอของชาวหลวงพระบาง แต่เนื่องจากการละเล่น ผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย ต้องผ่านพ้นกับกาลเวลาอันยาวนาน และฟันฝ่ากับระบบการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมกับคนหลากหลายกลุ่มชน ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตในชุมชน จึงมีการปรับเปลี่ยนผสมผสานให้เป็นการละเล่นที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ท้องถิ่น และมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย


อ้างอิง
http://www.baanjomyut.com/library_2/phi_ta_khon/01.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น